สอนร้องเพลง - ถอดรหัสแบบฝึกหัดแก้ร้องเพลงแล้วคอเกร็งของ Matt พร้อมคำแนะนำเพิ่มเติมจากครูฟิล์ม - ร้องเพลงดอทคอม - สอนร้องเพลงสดและออนไลน์
แก้อาการขึ้นเสียงสูงแล้วเกร็ง

แก้อาการขึ้นเสียงสูงแล้วเกร็ง

ถอดรหัสแบบฝึกหัดขึ้นเสียงสูงให้คอไม่เกร็งของ Matt พร้อมคำแนะนำเพิ่มเติมจากครูฟิล์ม

สวัสดีแฟนๆชาวร้องเพลงดอทคอมทุกคนนะครับ หลังจากที่ครูฟิล์มถอดรหัสแบบฝึกหัดแก้เสียงเพี้ยนไปในรอบแรก ได้รับการตอบรับอย่างดี มีคนนำไปทำตามและช่วยครูฟิล์มแชร์เยอะมากๆ ต้องขอขอบคุณมากครับ สำหรับใครที่ยังไม่ได้อ่าน ก็อ่านได้ที่นี่ครับ

https://www.rongpleng.com/exercise-to-fix-matching-pitch-problems/

สำหรับวันนี้ครูฟิล์มจะมาถอดรหัสแบบฝึกหัดตัวที่ 2 ของ Matt ซึ่งก็คือ การแก้อาการคอเกร็ง ถ้าใครที่ได้เรียนร้องเพลงและการใช้เสียงของร้องเพลงดอทคอมอยู่แล้ว ก็จะคุ้นชินกับการอธิบายของครูว่า อาการเกร็งเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งมีเหตุผลหลายข้อตามแต่วิธีการร้องของแต่ละคนที่แตกต่างกันไป บางคนเสียงบางแต่ก็เกร็ง บางคนเสียงหนาและก็เกร็ง บางคนเสียงเบาแล้วเกร็ง บางคนเสียงดังแล้วเกร็ง บางคนเกร็งเมื่อร้องต่ำ บางคนเกร็งเมื่อต้องร้องสูง แต่ละเคส จะใช้วิธีการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันครับ ซึ่งในการเรียนกับครูฟิล์ม จะได้รับการประเมิณเรื่องนี้อย่างละเอียดครับ เพื่อที่จะได้แก้ไขอย่างตรงจุดครับ

ใครยังจำ Webinar ที่ Matt พูดให้ฟังเรื่องอาการเกร็งได้บ้าง แมทจะใช้แบบฝึกหัดที่ช่วยให้กล่องเสียงลงต่ำมาช่วยในการลดอาการเกร็งครับ

บางคนคุ้นชินกับแบบฝึกหัดแบบนี้เป็นอย่างดี และก็สามารถทำได้ดี แต่จะมีปัญหาว่า เมื่อกลับมาร้องปรกติ ก็จะเกิดอาการเกร็งแบบเดิม

เอาอย่างนี้ก่อนดีกว่าครับ เรามาคุยกันเรื่อง “ลดระดับกล่องเสียง” กันก่อนนะครับ ว่ามันคืออะไร และมีข้อควรระวังอย่างไร ทั้งหมดที่เขียนนี้เขียนจากประสบการณ์ของครูฟิล์มนะครับ

เราจะสังเกตว่า เมื่อเราร้องเสียงสูง กล่องเสียงมักจะยกตัวสูงขึ้น (ลูกกระเดือกเคลื่อนสูง) เวลาเราร้องเสียงต่ำ กล่องเสียงจะเลื่อนต่ำลง

บางคนกล่องเสียงค้างสูงตลอดเวลา บางคนกล่องเสียงค้างต่ำตลอดเวลา ถ้าใครทราบ concept ของเรื่องนี้ก็จะรู้ว่า ระดับกล่องเสียงที่ต่างกันจะให้เสียงที่ต่างกัน ก็คือ Color ของเสียงต่างกัน กล่องเสียงสูง เสียงอาจจะสว่าง ถ้าขึ้นมากเกินไปก็อาจจะบีบเกร็งได้
กล่องเสียงต่ำจะให้เสียงที่ Dark ขึ้น ทุ้ม มืด ไม่สว่าง และจะช่วยให้เส้นเสียงไม่บีบกันเกินไป

ไอเดียหลักๆอยู่ตรงนี้ครับ เราจะร้องเสียงสูงโดยหลอกให้ร่างกายนำกล่องเสียงลงต่ำเพื่อไม่ให้เกิดอาการบีบเกร็งตอนร้องเสียงสูงครับ

ประโยคข้างบนคือ Key หลักๆเลย ซึ่งถ้าใครเข้าใจ ครูฟิล์มแทบไม่ได้อธิบายอะไรต่อเลยนะครับ

ใครยังงงอยู่ ลองคิดตามนะครับ ถ้าเราร้องสูง กล่องเสียงเราเลื่อนขึ้นมากไป เสียงเราจะบีบ ถ้าเราร้องสูงได้และสั่งให้กล่องเสียงไม่ขึ้นมากไป หรือขึ้นน้อยที่สุด หรือไม่ขึ้นเลย เราก็จะไม่มีอาการบีบเค้น

น้องๆเคยหาวกันไหมครับ เวลาหาว เวลาบิดขี้เกียจ เสียงเราก็จะขึ้นสูงมาก บางคนหาเสียง Mix ได้จากการหาวเลยหล่ะครับ

เวลาเราหาว กล่องเสียงเราจะลงต่ำอัตโนมัติครับ ทำให้เราขึ้นเสียงสูงได้โดยที่ไม่บีบเกร็ง

พอครูฟิล์มพูดถึงตรงนี้แล้วน้องๆหลายคนก็คงจะรู้แล้วว่าเราจะร้องแบบฝึกหัดอย่างไร ใช่แล้วครับ เราก็หาวไปพร้อมกับการทำแบบฝึกหัดที่เคยทำอยู่ได้เลยครับ

อันนี้เป็นวิธีการพูดที่ง่ายที่สุดที่ทำให้น้องๆเข้าใจเทคนิคการนำกล่องเสียงลง แต่เราจะนำกล่องเสียงลงเท่าไรกันดีล่ะถึงจะพอ อันนี้ถ้าคุณครูที่ทราบถึงวิธีการ Balance กล่องเสียงจะทราบดีครับ แต่ถ้าน้องๆทำเองก็สามารถเล่นกับมันได้หลายๆอย่าง ลองหาวน้อย หาวมาก หาวสุดๆ ลองทำดูครับ ว่าแบบฝึกหัดต่างๆให้ผลต่างกันอย่างไร เราอาจจะใช้เวลามากกว่าคนที่มาเรียนกับครู แต่เราก็จะได้ผลลัพธ์เหมือนกันครับ

การทำเสียงหล่อ การหาว การใช้เสียง Hoody เสียง Hollow เสียง Dumb ก็เป็นคำอื่นๆที่ใช้เรียกแบบฝึกหัดที่นำกล่องเสียงลงทั้งนั้น แต่ละชื่อเรียกจะมีการทำเสียงที่แตกต่างกันนิดๆหน่อยๆ แต่ละอย่างครูฟิล์มเองจะเลือกใช้ต่างเวลากัน ทำให้นักเรียนหายเกร็งได้เร็วขึ้นครับ

ลองทำแบบฝึกหัดโดยใช้เสียงประเภทนี้ดูได้นะครับ น้องๆสามารถใช้แบบฝึกหัดตามที่เคยให้ไว้ใน https://www.rongpleng.com/exercise-to-fix-matching-pitch-problems/ ได้เลยนะครับ

หรือใช้แบบฝึกหัดนี้ก็ได้

ผู้ชาย
https://www.youtube.com/watch?v=1AhWJUVLNHQ

ผู้หญิง
https://www.youtube.com/watch?v=–yCH8k4NSI

แบบฝึกหัดแต่ละแบบฝึกหัดจะมีข้อควรระวังในการใช้ครับ และจำไว้ว่าไม่มี Scale เทพใดๆที่จะให้ผลในระยาวครับ ทุกอย่างเกิดจากการฝึกฝนแบบฝึกหัดง่ายไปยาก ที่ต้องอาศัยเวลาจนทำให้สมองและกล้ามเนื้อทำงานได้สัมพันธ์กันอย่างดีครับ

บางคนถนัดได้แบบฝึกหัดนี้ และทำมากเกินไป มากจนเสียงร้องออกมามีความ ใหญ่ ปั้นเสียงตลอดเวลา เวลานำไปร้องเพลง pop ก็ทำให้น่าเบื่อเหมือนกันนะครับ เพราะฉะนั้น เมื่อเราทำแบบฝึกหัดที่ช่วยให้กล่องเสียงลง เราต้องกลับมาทำแบบฝึกหัดที่ดึงกล่องเสียงเข้ามาอยู่ในระดับปรกติด้วย ไม่งั้นปัญหาจะงอกขึ้นอีก อันนี้ก็ยิ่งแก้ยากเข้าไปใหญ่นะครับ

หวังว่าทุกๆคนจะตั้งใจฝึกตามกันนะครับ ครูฟิล์มขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จครับ